การทำข้าวกล่อง ( ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอเบนโตะ お弁当 ) ให้ลูกเล็กนั้นเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ชาวญี่ปุ่น แต่ทำให้สามีนั้นคิดว่าคงมีไม่มากเท่าไหร่ …...แหม ! ก็คุณขาาาา การทำข้าวกล่องนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวายเสียนี่กระไร ไหนจะต้องเตรียมอาหารเช้าและเย็นให้แล้ว อาหารกลางวันหาทานเองบ้างเถอะนะคะ ( ขอบ่นหน่อย 5555 )
ไหน ๆ ก็พูดเรื่องข้าวกล่องสำหรับลูกเล็กของคุณแม่ชาวญี่ปุ่นแล้ว อยากให้ดูรูปที่คุณแม่แต่ละท่านตั้งใจทำให้ลูก เพื่อให้ลูกดีใจและทานข้าวได้เยอะ ๆ นี่ นี่ นี่ เป็นไงละ ว้าวววเลยมั๊ยคะ
มาพูดถึงข้าวกล่องสำหรับสามีกันต่อ ที่บอกว่ามีภรรยาจำนวนไม่มากที่จะเตรียมให้สามี ซึ่งพี่ปูเป็นหนึ่งในนั้น แงงงงงง วัน จ - ศ เตรียมอาหาร 3 มื้อค่ะคุณขาาาา ( พูดเหมือนทำอาหารเริ่ดหรูยุ่งยากมากมาย ป่าวค่ะ 5555 ) ถึงจะเป็นอาหารง้าย ง่าย และสามีก็ใจดีทานอะไรก็ได้ไม่บ่น แต่ทำทุกวันมันก็เบื่อมากกและคิดเมนูไม่ออก เป็นเหมือนกันมั๊ยค่ะแม่บ้านท่านอื่น ๆ
มาค่ะ วันนี้พี่ปูจะนำเสนอเมนูข้าวกล่องสุดแสนจะทำง่าย และอร่อย ทำได้ไม่ถึง 10 นาที นั่นก็คือ …..หมูผัดขิงค่ะ
ก่อนอื่นเรามาเตรียมวัตถุดิบกันตามนี้ค่ะ
หมูติดมัน ( หรือไม่ติด แล้วแต่ชอบเลยค่ะ )
หอมหัวใหญ่
โชยุ
มิริน
ขิงขูด
พริกป่น
ขั้นตอนทำก็นี่เลย
เอาหอมหัวใหญ่ลงผัดสักพักให้สีเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีใส
เอาหมูลงกระทะต่อเลย ( พี่ปูไม่ใส่น้ำมัน เพราะหมูมีมันเยอะแล้ว )
พอหมูเริ่มสุกใส่เครื่องปรุง โชยุ มิริน ขิงขูด และพริกป่น
เสร็จแล้วจร้าาาา ง่ายมั๊ย 5555 ( เรื่องยาก ๆ พี่ปูไม่ถนัด ) 美味しかった!สามีชมว่าอร่อย
มาพูดถึงเครื่องปรุงกันบ้างดีกว่า อาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักปรุงรสด้วย โชยุ เอ๊ะ โชยุคืออะไร
โชยุ คือ ซอสถั่วเหลืองที่ได้จากการหมัก คล้าย ซีอิ๊วขาวของไทยเรา แต่มีลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่น และมีหลายสูตร ขึ้นอยู่กับพันธุ์ถั่วเหลือง พันธุ์ข้าวสาลี และอัตราส่วนที่ใช้ในการหมัก
สูตรที่นิยมทานกัน เช่น
โชยุสูตรเข้มข้น - เป็นโชยุสูตรต้นตำรับที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ปริมาณโซเดียมประมาณ 16% สี , กลิ่นและรสชาติเข้มข้น นิยมนำไปทำอาหารประเภท หมูซีอิ๊ว เทอริยากิ และอาหารที่ต้องการกลิ่นหอมของโชยุ หรือใช้เป็นน้ำจิ้ม
โชยุสูตรอ่อน - สี , กลิ่นและรสชาติไม่เข้มข้นเท่าสูตรเข้มข้น แต่เค็มกว่า ปริมาณโซเดียมสูงกว่าสูตรเข้มข้นอีกประมาณ 2% จร้าา งงมั๊ยละ เพราะเค้าใช้ปริมาณเกลือมากขึ้นเพื่อร่นระยะเวลาการหมัก เหมาะกับอาหารที่ไม่ต้องการน้ำซุปสีเข้ม เช่น น้ำซุป , ไข่ตุ๋น และเนื่องจากกลิ่นหอมน้อยจึงไม่เหมาะนำมาทำน้ำจิ้ม
โชยุสูตรทามาริ - ส่วนผสมหลักคือถั่วเหลือง ใช้เวลาหมักนาน กลิ่นและรสชาติจึงเข้มข้นมาก นิยมทำน้ำจิ้ม ซูชิ ซาชิมิ
โชยุสูตรลดปริมาณโซเดียม - บางยี่ห้อลด 25% , 50% แต่ยังคงรสชาติความอร่อยและความเค็มไว้ ดีต่อสุขภาพ
โชยุสูตรหอมพิเศษ - กลิ่นหอมอ่อน ๆ หอมกว่าโชยุทั่วไปเหมือนชื่อสูตร 555 ใช้ผัดหมี่ หรือผัดผักต่าง ๆ
จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายสูตร หลายรสชาติมากมาย เช่น โชยุผสมดะชิ โชยุสาหร่ายคอมบุ โชยุหอยนางรม โชยุหอยเม่น โชยุถั่วลันเตา โชยุสำหรับซาชิมิ โอ้ววว เยอะแยะ เอาเป็นว่าถ้ามือใหม่ใช้โชยุ พี่ปูแนะนำ แบบข้อ 1 สูตรเข้มข้น ลองทานดูก่อนเนอะ เพราะคนส่วนใหญ่ใช้แบบนี้กัน คิดว่าไม่น่าพลาด 5555 แต่ถ้าไม่ชอบยังไง ค่อย ๆ ปรับไปสูตรอื่น ๆ ดูนะคะ
แล้วครั้งหน้า พี่ปูจะพาทำข้าวกล่องง่าย ๆ เมนูอะไรอีก ติดตามอ่านกันนะคะ เผื่อเอาไว้เป็นไอเดียทำข้าวกล่องให้คุณสามีทาน แล้วถ้าใครมีเมนูข้าวกล่องอะไรที่ทำง่าย ๆ อร่อย ๆ อยากแนะนำพี่ปูบ้างก็คอมเม้นมาบอกกันบ้างนะคะ รอลอกค่ะ 5555 ( คุณสามีคงดีใจที่ได้ทานเมนูใหม่ ๆ )
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น